ใหม่ในเก่า
16 ชิ้นงานศิลปะของช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น นักพฤกษศาสตร์ นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ใน 'วังหน้า' ที่จะเผยร่องรอยประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของชาติไทย
นี่คือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่าแปลก ใหม่ และน่าสนใจมาก
กรมศิลปากร โดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ทำโครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ความน่าสนใจของงานนี้คือ การเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่อาจฟังดูไกลตัวให้น่าสนใจ ผ่านมุมมองใหม่ๆ และการใช้สื่อที่หลากหลายมาก
โครงการนี้ต่อเนื่องจากโครงการวังน่านิมิต ที่จัดเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจิตติ เกษมกิจวัฒนา เป็นภัณฑารักษ์ ครั้งนั้นคุณใหม่ตั้งใจใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์
แต่คราวนี้คุณใหม่กล่าวว่า “อยากให้มองประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้จากหลากหลายมิติ”
ประวัติศาสตร์ช่วงที่ว่า คือช่วงที่สยามมีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์พร้อมกัน คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จริงๆ แล้วทั้งสองพระองค์ก็คือ ‘วังหลวง’ กับ ‘วังหน้า’

Design Concept : ไม่ว่าเป็นสมัยใดๆก็ตาม ผ้าที่ถูกจัดว่าเป็นของชั้นสูง มีราคานั้น จะประกอบไปด้วยวัสดุพิเศษที่นอกเหนือจากเส้นใย ซึ่งอาจเป็นโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน หรือ ทองเหลือ
ชื่องาน : Curtain (พระวิสูตร)
รูปแบบงาน : ผ้าม่านสำหรับห้องจัดแสดงนิทรรศการ (ห้องมุขกระสัน)
ผู้สร้างงาน : จารุพัชร อาชวะสมิต (นักออกแบบสิ่งทอ)
จารุพัชร อาชวะสมิต เป็นผู้สร้างสรรค์ผ้าม่านที่ใช้ในห้องมุขกระสัน (ห้องจัดแสดงนิทรรศการ) โดยได้แรงบันดาลใจจากความเก่าแก่ของพื้นผิวอันเกิดจากความชื้นและความร้อน จารุพัชรกล่าวว่า นั่นคือลวดลายที่แสดงสัจธรรมของวัสดุผ่านกาลเวลา ทำให้อยากสร้างวัสดุใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นสัจธรรมดังกล่าว
อีกแรงบันดาลใจหนึ่งคือลักษณะการแบ่งพื้นที่ทางกายภาพระหว่างพื้นที่ของพระมหากษัตริย์และสามัญชนด้วยที่กั้นลักษณะต่างๆ เช่น พระวิสูตร (ม่าน) กำแพง ฉากกั้น บันได ที่ประทับ พระวิสูตรทำจากวัสดุอ่อนพลิ้ว ซึ่งหากสามัญชนจะเดินผ่านเข้าไปก็ทำได้โดยง่าย แต่พระวิสูตรทรงไว้ซึ่งอำนาจมากกว่าความแข็งแรง จึงทำหน้าที่กั้นพื้นที่ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์